ในปัจจุบัน เราคงพบเห็นสังคมเครือข่าย กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น MySpace, Hi5, หรือFacebook ซึ่งสังคมประเภทนี้ เราเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สังคมเสมือน
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่
ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
แรงจูงใจที่ทำให้เกิดสังคม เครือข่าย
ในปัจจุบัน เราคงพบเห็นสังคมเครือข่าย กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น MySpace, Hi5, หรือFacebook ซึ่งสังคมประเภทนี้ เราเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สังคมเสมือน “Virtual Communities” โดยการขยายตัวของสังคมประเภทนี้ เป็นไปด้วยความรวดเร็วอย่างสูง เป็นการขยายตัวแบบทวีคูณ อย่างเช่น หากเรารู้จักเพื่อนคนหนึ่ง เราก็จะรู้จักเพื่อนของเพื่อนไปในตัวด้วย และหากเรารู้จักเพื่อนของเพื่อนแล้ว ในอนาคตต่อมาเราก็จะรู้จักเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอย่างแน่นอน ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว เป็นการขยายตัวเหมือนใยแมงมุมที่ขยายตัวออกไปเป็นทอดๆ โยงไปโยงมา
และหากเราลองพิจารณากันแล้ว จะพบว่าการขยายสังคมประเภทนี้ อย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากแรงจูงใจบางอย่าง โดยที่ 3Peter Kollock ได้ให้กรอบจำกัดความเรื่อง แรงจูงใจสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมเครือข่ายนี้ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 เหตุผล ดังนี้
3ผู้เขียนหนังสือ "The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace"1. Anticipated Reciprocity ความคาดหวังจากการให้และรับ นั่นคือ การที่ผู้ใช้บางคนได้เข้ามา Contribute และให้ข้อมูล ความรู้บ่อยๆ ก็มีแรงจูงใจมาจาก เขาเองก็อยากที่จะได้ข้อมูล ความรู้อื่นๆ กลับคืนมามากเช่นกัน
ซึ่งเหตุผลนี้ จะพบมากในผู้ใช้ที่เข้ามาใช้งาน Webboard เพราะเมื่อมีคนมา Post ข้อสงสัยใดๆ ก็ตาม ก็มักจะมีผู้ใช้งานบางคนที่เข้ามาตอบคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว จนบางครั้ง กลายเป็นที่รู้จักของ Webboard นั้นๆ และเมื่อตัวเขาเองเข้ามาเป็นผู้ Post บ้าง ก็จะมีคนให้ความสนใจ และเข้ามาตอบคำถามให้กับเขาอย่างมากมาย
2. Increased Recognition ความต้องการมีชื่อเสียง และเป็นที่จดจำในสังคมเครือข่ายนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อเสียง หรือการถูกยกย่องชมเชย และถูกจดจำนั้น ก็คือพื้นฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิต นั่นคือ ความต้องการด้านความรักนั่นเอง
ซึ่งในหลายๆ ครั้ง คนเรามักจะโหยหาความรัก และการยอมรับจากคนในสังคมจริงๆ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว บางทีเราก็ไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก ดังนั้น สังคมเครือข่ายประเภทนี้ ก็มีบทบาทที่เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ เพราะบางคนเป็นคนพูดไม่เก่ง สื่อสารด้วยภาษาพูดไม่เข้าใจ แต่ในโลกของไซเบอร์แล้ว เขากลับเป็นคนที่เขียนรู้เรื่อง เล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนได้ดี ก็ทำให้เขาถูกยอมรับ และแสวงหาการเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนนี้มากกว่าการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
3. Sense of efficacy ความภาคภูมิใจ เมื่อสิ่งที่เขียนเกิดผลกระทบที่ดีขึ้น แน่นอนว่าเราเองก็คงจะรู้สึกดีไม่น้อย หากสิ่งที่เราคิดขึ้นมา ถูกนำไปใช้สร้างประโยชน์ ทั้งในระดับกลุ่มเล็กๆ หรือในระดับองค์กร
สำหรับหลายๆ คนมักจะติดใจ และกลับเข้ามาในสังคมเครือข่ายนี้อีก ก็เพราะความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากเขาเอง ได้รับการยอมรับ เกิดเป็นความรู้ขึ้น และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเขาเองในการเป็นผู้เสนอแนะ Contribute ความรู้ให้กับเพื่อนๆ ในสังคมเครือข่ายต่อไป
4. Sense of Community การมีอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมกัน เช่น การแสดงพลังทางการเมือง การรวมตัวเพื่อประโยชน์ในทางสาธารณะ ซึ่งแรงจูงใจทางด้านนี้ ถือได้ว่าเป็นแรงจูงใจที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะการใช้อารมณ์ในการนำพาให้คนมารวมกลุ่มกัน ก็จะมีแรงผลักดันจากภายในค่อนข้างสูง
ตัวอย่างที่พบเห็น ก็อย่างเช่นการเขียนกระทู้ หรือบทความบางอย่างแล้วไปมีผลกระทบต่อความคิดของคนบางกลุ่ม ก็อาจจะทำให้เกิดการเข้าต่อยอดความคิดเห็นต่างๆ จากหนึ่งคนเป็นสองคนเป็นสามคน จนในที่สุดก็เป็นหลายร้อยคน
ดังนั้น สรุปแล้วจากแรงจูงใจทั้ง 4 ด้าน จึงพอสรุปได้ว่า คนจะเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมเครือข่ายนั้น เหตุผลส่วนใหญ่ก็มาจากแรงจูงใจ จากภายในจิตใจของผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการยอมรับความภูมิใจ ความคาดหวังต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้อารมณ์ร่วมดังนั้น การจะทำให้สังคมเครือข่ายนั้น มีความน่าอยู่ และเติบโตได้นานๆ คนในสังคมก็ควรจะรู้จักพื้นฐานของการให้และรับ (Give & Take) การแบ่งปัน (Sharing & Contribution) ซึ่งจะช่วยให้สังคมเป็นสังคมเครือข่ายที่ก่อประโยชน์ให้กับคนที่เข้ามาใช้จริงๆ
ประเภทของสังคมเครือข่าย
สังคมเครือข่ายในปัจจุบัน มีอยู่มากมายหลากหลาย Website อย่างที่เรารู้จักกันดีก็ Facebook, Hi5, youtube ซึ่งหากจะแบ่งเป็นประเภทออกมาอย่างชัดเจนเลยนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะในบางตำราก็แบ่งสังคมเครือข่ายตามประเภทของเนื้อหาเช่น เป็นเนื้อหาความรู้สื่อมัลติมีเดียต่างๆ หรือแม้กระทั่งรูปภาพ
แต่ในรายงานนี้ ขอแบ่งประเภทของสังคมเครือข่ายออกตามวัตถุประสงค์ของการเข้าใช้งาน โดยสามารถแบ่งออกได้ทั้งสิ้น 7 ประเภท คือ
1. Identity Network (สร้างและประกาศ “ตัวตน”)
สังคมครือข่ายประเภทนี้ใช้สำหรับให้ผู้เข้าใช้งาน ได้มีพื้นที่ในการสร้างตัวตนขึ้นมาบน Website และสามารถที่จะเผยแพร่เรื่องราวของตนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยประเภทของการเผยแพร่อาจจะเป็นรูปภาพ วีดีโอ การเขียนข้อความลงใน BLOG ซึ่งในสังคมประเภทนี้ สามารถที่จะสร้างกลุ่มเพื่อนขึ้นมาได้อย่างมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ได้แก่ My Space, Hi5, Facebook
2. Creative Network (สร้างและประกาศ “ผลงาน”)
สังคมเครือข่ายประเภทนี้ เป็นสังคมที่คนในสังคมต้องแสดงออก และนำเสนอผลงานของตัวเอง ได้จากทั่วทุกมุมโลก จึงมี Website ที่ให้บริการพื้นที่เสมือนเป็น Gallery ที่ใช้จัดโชว์ผลงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น วีดีโอ รูปภาพ เพลง ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Youtube, Yahoo VDO, Google VDO, Flickr, Multiply
ซึ่งในปัจจุบันการประกาศผลงานในสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่บางคนถึงขั้นโด่งดังมีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืนก็เป็นได้ อย่างเช่น สาวใหญ่ ร่างท้วมวัย 47 ปี ดูเป็นแม่บ้านธรรมดา แต่งตัวก็แสนเชย แทบไม่มีอะไรดึงดูดใจ กลายเป็นคนดังขึ้นมา ด้วยเสียงร้อง อันทรงพลัง สะกดใจคนดู และโด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลก หลังจากที่มีผู้นำคลิปวิดีโอ การแสดงของเธอในรายการโทรทัศน์ "Britain's Got Talent" ไป Post ไว้ใน "Youtube" และปรากฏว่า มีคนคลิกเข้ามาดูมากถึง 48 ล้านครั้ง
สำหรับช่างภาพ หรือตากล้องคนไทยก็สามารถช่องทางนี้ ในการสร้างรายได้ทางธุรกิจได้เหมือนกัน เพราะหลายๆ คนก็มักจะนิยมใช้ Multiply ในการนำเสนอผลงานภาพถ่ายของตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติชมรูปภาพกัน และยังใช้เป็นอัลบั้มภาพออนไลน์เพื่อให้คนที่กำลังหาช่างภาพอยู่สามารถเข้ามาดูผลงาน และติดต่อภาพคนนั้นได้โดยตรง
3. Passion Network (“ความชอบหรือคลั่ง” ในสิ่งเดียวกัน)
เป็นสังคมเครือข่าย ที่ทำหน้าที่เก็บในสิ่งที่ชอบไว้บนเครือข่าย โดยเป็นการสร้าง Online Bookmarking โดยมีแนวคิดที่ว่า แทนที่ผู้ใช้จะเก็บ Bookmark ไว้ในเครื่องคนเดียว ก็นำมาเก็บไว้บน Website ดีกว่า เพื่อที่จะได้เป็นการแบ่งปันให้กับคนที่มีความชอบในเรื่องเดียวกัน สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเข้าไปหาข้อมูลได้ และนอกจากนี้ ยังสามารถ Vote เพื่อให้คะแนนกับ Bookmark ที่ผู้ใช้คิดว่ามีประโยชน์และเป็นที่นิยม ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ del.icio.us, Digg, Zickr, duocore.tv
ทั้งนี้สำหรับ Zickr เอง ก็เป็นสังคมเครือข่าย ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคนไทย และเป็น Website ลักษณะเดียวกับ Digg แต่เป็นภาษาไทย เพื่อบริการให้กับคนไทยที่บางทีอาจติดขัดในเรื่องของภาษาอังกฤษ
4. Collaboration Network (เวทีทำงานร่วมกัน)
เป็นสังคมเครือข่าย ที่ต้องการความคิด ความรู้ และการต่อยอดจากผู้ใช้ที่เป็นผู้รู้ เพื่อให้ความรู้ที่ได้ออกมา มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาในที่สุด ซึ่งหากลองมองจากแรงจูงใจที่เกิดขึ้นแล้ว คนที่เข้ามาในสังคมนี้ มักจะเป็นคนที่มีความภูมิใจ ที่ได้เผยแพร่สิ่งที่ตนเองรู้ และทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Wikipedia, Google Maps
ซึ่ง Website ที่โด่งดังมากอย่าง Wikipedia ซึ่งถือว่าเป็นสารานุกรม แบบต่อยอดทางความคิด ก็อนุญาตให้ใครก็ได้เข้ามาช่วยกันเขียน และแก้ไขบทความต่างๆ ได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดเป็นสารานุกรมออนไลน์ขนาดใหญ่ ที่รวบรวมความรู้ ข่าวสาร และเหตุการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย
นอกจากนี้ Google Maps เอง ก็ถือว่าเป็นสังคมเครือข่ายประเภทนี้ด้วย เพราะการสร้างแผนที่ของตัวเอง หรือแบ่งปันข้อมูลแผนที่ให้คนอื่นตามที่ได้มีการปักหมุดเอาไว้ ก็ทำให้คนที่เข้ามาได้รับประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเกิดมาจากการต่อยอดแบบสาธารณะนั่นเอง
สำหรับตัวอย่างการทำงานร่วมกันอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการเสนอความคิดเห็นต่อยอดกันใน Webboard อย่างในห้องเฉลิมไทย จาก Web Pantip ที่มีการเปิดโอกาสให้ คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เพชรพระอุมา” ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของบทภาพยนตร์ การคัดเลือกนักแสดง อุปกรณ์ และงานอื่นๆ ซึ่งคนทีเข้าแสดงความเห็น ก็เป็นคนที่ชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งนั้น ซึ่งหากมีการพัฒนาดีๆ จากสังคมประเภทนี้ ก็จะทำให้เกิด Community of Practice หรือ CoP ได้เลย
อย่างเครื่องมือที่เรียกว่า Webboard นั้น ในหลายๆ องค์กรมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้เหมือนกัน เพราะไม่มีการปิดกั้นทางความคิด ทำให้คนมีอิสระในการเขียนแสดงความคิดเห็น จึงมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา
5. Virtual Reality (ประสบการณ์เสมือนจริง)
สำหรับสังคมเครือข่ายประเภทนี้ จะเป็นสังคมที่ทำให้ผู้ใช้สร้างตัวละครขึ้นมาสมมติเป็นตัวเรา และใช้ชีวิตอยู่บนโลกไซเบอร์ และทำในสิ่งที่บางครั้งเราทำไม่ได้ในโลกจริงๆ ส่วนใหญ่สังคมประเภทนี้ จะเป็นพวกเกมต่างๆ เช่น SecondLife, World WarCraft
อย่างเช่นเกม SecondLife ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ ในโลกเสมือนจริง ผู้ใช้สามารถสร้างตัวละครโดยสมมุติให้เป็นตัวเราเองขึ้นมาได้ และใช้ชีวิตอยู่ในเกม อยู่ในชุมชนเสมือน (Virtual Community) สามารถซื้อขายที่ดิน และหารายได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
6. Professional Network (เครือข่ายเพื่อการประกอบอาชีพ)
สังคมเครือข่ายอีกประเภท ก็คือ สังคมเครือข่ายเพื่อการงาน โดยจะเป็นการนำประโยชน์จาก Social Network มาใช้ในการเผยแพร่ประวัติผลงาน หรือ Resume ของตน โดยสามารถสร้างเครือข่ายกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือคนรู้จัก นอกจากนี้บริษัทที่ต้องการคนมาร่วมงาน ก็สามารถเข้ามาหาจากประวัติที่อยู่ในสังคมเครือข่ายนี้ได้ ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Linkedin.com
หากจะมองให้ดีนี่ก็คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง เพราะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ใช้ และตัวผู้ดูแลระบบเอง ซึ่งก็น่าจะกลายเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ในอนาคตได้ แต่คู่แข่งก็ยังมีอยู่อย่างพวก Website สมัครงานต่างๆ ก็มีอยู่เยอะพอสมควร
7. Peer to Peer (P2P) (เครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่าง Client)
สังคมเครือข่ายประเภทสุดท้าย เป็นสังคมเครือข่ายแห่งการเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องผู้ใช้ด้วยกันเองโดยตรง จึงทำให้เกิดการสื่อสารหรือแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และตรงถึงผู้ใช้ทันที ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Skype, BitTorrent
ซึ่ง Skype เองก็เป็นโปรแกรมสนทนาผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดในมุมโลก ก็สามารถติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตาได้จากโปรแกรมนี้ หรือแม้แต่ BitTorrent ก็เป็นที่นิยมในหมู่คนที่ชอบดาวน์โหลดของฟรี จนมีอยู่ช่วงหนึ่งทำให้เกิดกระแสนิยมและมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่าโหลดบิท แต่ทว่าเทคโนโลยีประเภทนี้ก็ส่งผลต่อเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะการโหลดบิท ในแต่ละครั้งก็เหมือนการ Copy หนังแล้วเอามาเผยแพร่ต่อนั่นเอง
จากที่กล่าวมา ก็คือสังคมเครือข่ายที่ถูกจำแนกออกมาตามวัตถุประสงค์การเข้าใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลายๆ ครั้งถ้าถูกนำมาใช้ในทางที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม แต่ในบางครั้งสังคมเครือข่ายเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่น้อยเหมือนกัน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทรศัพท์ : 02-392-4021 ต่อ 7070 (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)